ที่พักสะอาดในบรรยากาศชาวเรือ สัมผัสวิถีชุมชนแสมสาร อบอุ่นด้วยบริการดุจญาติมิตร

Boutique Hotel @ Samaesarn

ติดต่อสอบถาม 08 3110 8300

Boutique Hotel @ Samaesarn

ห้องต่างๆ ภายในเรือ

ห้องโถง (Ward room)

ห้องโถงนายทหาร หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “ห้องโถง” เป็นห้องพักผ่อน ห้องประชุม ห้องรับรอง และ ห้องรับประทานอาหารสำหรับนายทหารช่วงที่ว่างจากงานในเรือ นายทหารสามารถเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์  ดื่มกาแฟ  

พูดคุยกัน หรือแม้กระทั่งเล่นเกมอย่างหมากกระดาน หรือเกมอื่น ๆ และในหลายโอกาส ยังใช้เป็นห้องประชุมวางแผนการฝึก บรรยายสรุปการเดินทาง บ่อยครั้งก็ใช้เป็นห้องรับรองผู้บังคับบัญชา ทหารเรือจากต่างประเทศ และญาติของนายทหาร หรือ คณะเยี่ยมชมจากหน่วยงานต่าง ๆ กรณีจำเป็น ห้องโถงอาจเป็นห้องนอนด้วย เนื่องจากห้องนอนนายทหารไม่เพียงพอ

ห้องโถงของเรือแต่ละลำ จะมีสัดส่วนและความหรูหราต่างกันไปตามขนาดของเรือ เช่น เรือชายฝั่งขนาดเล็ก ห้องโถงก็มีเพียงเก้าอี้และโต๊ะ ซึ่งเดินเข้าไปและนั่งลง จะเดินเหินหรือขยับไม่ได้มากนัก สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้อง ก็อาจมีแค่ โทรทัศน์ขนาดย่อม กาน้ำร้อน กับชั้นวางหนังสือเล็ก ๆ สำหรับเรือขนาดใหญ่ 

ก็จะมีห้องโถงที่ใหญ่โตและหรูหราตามไปด้วย บางลำใหญ่มากถึงขนาดวางพรมสำหรับซ้อมพัทกอล์ฟ ในห้องโถงได้สบายๆ บางลำใช้ไม้จริงตกแต่งห้องให้ดูวิจิตรอลังการไม่ต่างจากห้องในโรงแรมหรู ส่วนอุปกรณ์ภายในห้องก็มีทั้ง โซฟา ชุดรับแขก บาร์เครื่องดื่ม ตู้หนังสือ ทีวีจอกว้าง 

เครื่องชงกาแฟ และอื่น ๆ
เนื่องจากห้องโถงเปรียบเสมือนห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องพักผ่อน และอื่น ๆ ของนายทหารทุกนายในเรือ ใช้ในการรับรองและต้อนรับมิตรสหาย ใช้เป็นสโมสรพักผ่อนหย่อนอารมณ์ สนทนาถกปัญหาประจำวัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ถือเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีกฎ กติกา มารยาทอันพึงปฏิบัติโดยเฉพาะ เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย

สะพานเดินเรือ (Bridge)

“สะพานเดินเรือ” อาจฟังดูแปลกๆ หากบุคคลทั่วไปได้ยินในครั้งแรกๆ โดยคำว่า “สะพาน” ก็คือสถานที่ที่ไว้ข้ามแม่น้ำหรือลำคลองนั้นเอง ส่วนคำว่า “เดินเรือ” ความหมายก็คือการใช้เรือแล่นออกไปในน้ำ สำหรับ “สะพานเดินเรือ” นั้นคือ 

สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมบังคับเรือให้แล่นเดินทางออกไป ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Bridge” หรือ “Navigation Bridge” ที่ใช้คำว่าสะพานหรือ Bridge กับสถานที่แห่งนี้ น่าจะมาจากลักษณะมุมมองที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงกับการมองวิวจากสะพาน ชาวตะวันตกจึงคิดดัดแปลงคำว่า Bridge มาใช้กับสถานที่บังคับเรือ ยิ่งช่วงพระอาทิตย์เริ่มลับแสงและร่วงลงผิวน้ำ 

ก็ถือว่าเป็นอะไรที่สวยงามมาก อีกเรื่องเล่าเกี่ยวกับ สะพานเดินเรือ มีอยู่ว่า ใน ศตวรรษที่19 เริ่มมีการนำเรือกลไฟมาใช้แล้วเรือกลไฟนี้ต้องมีการควบคุมและดูแลที่ซับซ้อนกว่าการใช้ใบในสมัยก่อน และต้องสามารถมองเห็นภาพรวมของการเดินเรือให้ได้ชัดเจนมากที่สุด ดังนั้น ห้องควบคุมและบัญชาการแบบใหม่จึงถูกพัฒนาให้ยกสูงขึ้น

จากตัวเรือ มันตั้งยกสูงขึ้นมาจากตัวเรือคล้ายๆว่าจะเป็นสะพาน พวกคนเรือเลยเรียกมันว่า Bridge จากนั้นก็เรียกกันเรื่อยๆต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
สะพานเดินเรือนั้น โดยปกติแล้วจะอยู่ชั้นบนสุดของเรือแต่ละลำไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จะมีอุปกรณ์มากมายติดตั้งอยู่อย่างครบครั้น เพื่อใช้ในการบังคับเรือและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

เช่น เข็มทิศ  GPS  เรดาร์  วิทยุติดต่อสื่อสาร เป็นต้น

ห้องถือท้าย (Wheel room)

          “การถือท้าย” คือการใช้เครื่องจักรและหางเสือเพื่อนำเรือไปยังตำบลที่ต้องการ ห้องถือท้ายจึงมีความสำคัญและประกอบไปด้วยอุปกรณ์มากมาย อุปกรณ์สำคัญที่ติดตั้งอยู่ก็จะมีทั้ง เข็มทิศ ไว้อ้างอิงทิศทางในการแล่นเรือ  เครื่องหาที่เรือดาวเทียม (GPS) ไว้ระบุตำแหน่งของเรือบนผิวโลก เรดาร์ (Radar) ไว้ตรวจจับวัตถุรอบเรือ 

วิทยุติดต่อสื่อสาร ไว้ติดต่อระหว่างเมืองท่าหรือเรือต่างๆ  เครื่องถือท้ายอัตโนมัติ (Auto Pilot) ไว้สำหรับสั่งระบบให้เรือแล่นไปเองในทิศทางที่เราต้องการ  เครื่องวัดระดับความลึกน้ำ (Echo Sounder) ไว้สำหรับวัดความลึกน้ำใต้ท้องเรือจะมีประโยชน์หากเดินทางเข้าใกล้ชายฝั่งหรือในร่องน้ำ แผนที่ ซึ่งใช้ในการเดินทางทั้งแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันเรือหลายลำห้องถือท้ายจะเป็นห้องเดียวกับ สะพานเดินเรือ

ห้องเข็มทิศ (Compass room)

จากหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ชาวจีนรู้จักใช้เข็มทิศหน้าปัดกลมเพื่อเดินเรือเมื่อศตวรรษที่ 12 ขณะนั้น จูยี่ ชาวมณฑลเจ้อเจียง ได้บันทึกไว้ว่า ในคืนแรมทหารเรือได้ใช้เข็มทิศหน้าปัดกลมจำแนกทิศทาง ต่อมา เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือจีนได้เริ่มเดินทางโดยใช้เข็มทิศ ไปถึงอาหรับและแอฟริกาตะวันออก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1405 ไปกลับถึงเจ็ดครั้ง รวมเวลาได้ 28 ปี สำหรับยุโรป ชาวอิตาเลียนใช้เข็มทิศในศตวรรษที่ 14 

เข็มทิศ” เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ให้ข้อมูลด้านทิศทาง มีหลักการทำงานโดยอาศัยแรงดึงดูดระหว่างสนามแม่เหล็กขั้วโลกกับเข็มแม่เหล็กของเข็มทิศ เข็มแม่เหล็กจะชี้อยู่ในแนวทิศเหนือ – ใต้ตลอดเวลา หน้าปัดคล้ายกับนาฬิกา มีการแบ่งขนาดของมุมโดยเริ่มนับทิศเหนือเป็นหลักเท่ากับ 0 องศา เวียนตามเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันออกเท่ากับ 90 องศา

จากเหนือไปทิศใต้เท่ากับ 180 องศา จากทิศเหนือไปทิศตะวันตกเท่ากับ 270 องศา และเมื่อเวียนมาจบที่ทิศเหนือจะเท่ากับ 360 องศา เท่ากับมุมในวงกลมนั่นเอง โดยปกติเข็มทิศจะใช้ประกอบกับแผนที่ เพื่อให้ทราบว่า เราจะเดินทางไปในทิศทางใดและจะไปพบเจอกับภูมิประเทศแบบใด สำหรับเรือเดินทะเล ส่วนใหญ่จะติดตั้งเข็มทิศ 2 ประเภท 

ได้แก่ เข็มทิศแม่เหล็ก (Magnetic compass) และเข็มทิศไยโร (Gyro compass) โดยเข็มทิศแม่เหล็ก จะทำงานโดยอาศัยอิทธิพลของสนามแม่เหล็กโลก จึงต้องติดตั้งไว้บริเวณแนวกึ่งกลางตัวเรือที่มีการรบกวนจากอำนาจแม่เหล็กที่มาจากตัวเรือน้อยที่สุด ส่วนเข็มทิศไยโร ไม่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลแม่เหล็กโลก แต่อาศัยเทคนิคที่เรียกว่า Gyroscope โดยใช้ไฟฟ้าการหมุนลูกข่างด้วยความเร็วสูง ในลักษณะเช่นนี้แกนหมุนของมันจะชี้ทิศประจำตลอดเวลา เทคนิคนี้ได้กำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1852 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌอง เบอร์นาด เลอง ฟูโกลต์ (Jean Bernard Leon Foucault)

ห้องแผนที่ (Chart room)

          “แผนที่” คือ ภาพบางส่วนของผิวโลกที่แสดงในมาตราส่วนที่ถูกต้อง ซึ่งอาจแสดงอาณาเขต ลักษณะกายภาพต่างๆ รวมทั้งข้อมูลทางภูมิศาสตร์อื่นๆ และสามารถแบ่งวัตถุประสงค์ในการใช้งานได้หลายประเภท อาทิ แผนที่บก แผนที่เดินเรือ แผนที่เดินอากาศ แผนที่นำร่อง แผนที่กระแสน้ำ แผนที่ดาว แผนที่อุตุนิยมวิทยา เป็นต้น

        สำหรับนักเดินเรือแล้ว แน่นอนว่าต้องใช้แผนที่เดินเรือเป็นหลัก โดยถือเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญ กล่าวคือ การใช้แผนที่เพื่อวางแผนการเดินทาง โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้จุดหรือบริเวณต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเรือ เช่น สันดอน ที่ตื้น เกาะ หินโสโครก และทำให้ทราบถึงระยะทางจากจุดเริ่มไปถึงยังจุดหมาย

ทั้งยังสามารถคำนวณหาระยะเวลาเดินทางได้อีกด้วย นอกจากนี้ ขณะเดินเรืออยู่นั้น ต้องจินตนาการว่าเมื่อเรืออยู่กลางทะเล เห็นแต่น้ำกับฟ้า ไม่เห็นภูมิประเทศที่ใช้อ้างอิงได้เหมือนบนบก เช่น ยอดเขา หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ดังนั้น แผนที่เดินเรือจึงมีความสำคัญทำให้ทราบว่า เรืออยู่ ณ จุดใดบนโลก เป็นไปตามเส้นทางที่เราวางแผนไว้หรือไม่ โดยแสดงพิกัดเป็นเส้นแนวนอน (เส้นรุ้ง หรือ ละติจูด) ตัดกับเส้นแนวตั้ง (เส้นแวง หรือ ลองจิจูด)

 ระยะทางในแผนที่เดินเรือ จะใช้หน่วยเป็น “ไมล์ทะเล (Nautical Mile)” โดย 1 ไมล์ทะเล จะเท่ากับ 1.85 กิโลเมตร (แตกต่างจาก 1 ไมล์บก ซึ่งเท่ากับ 1.61 กิโลเมตร) ส่วนความลึกของน้ำจะใช้หน่วยเป็นเมตร บางประเทศจะใช้หน่วยความลึกเป็น “ฟาทอม (fathom)” โดย 1 ฟาทอม จะลึกประมาณ 1.83 เมตร

ปัจจุบันการจัดทำแผนที่เดินเรือ ได้วิวัฒนาการ จากเดิมเป็นแผนที่กระดาษ ก็พัฒนาเป็น แผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Navigational Chart : ENC) ในรูปแบบดิจิตอล โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาให้สามารถเตือนภัยเมื่อนำเรือเข้าใกล้พื้นที่อันตราย ทำให้การเดินเรือมีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แผนที่เดินเรือ (กระดาษ) ก็ยังคงใช้งานอยู่ เพราะราคาถูก และคล่องตัวกว่า

ห้องสมอ (Anchor room)

“สมอ” มีรากศัพท์จากคำว่า “ถมอ” ในภาษาเขมร แปลว่า หิน ชื่อเรียกนี้แสดงให้เห็นถึงวัสดุดั้งเดิมของสิ่งที่ใช้ถ่วงเรือให้จอดอยู่กับที่ว่าเคยทำด้วยหินมาก่อน สมอเรือ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการจอดเรือมาตั้งแต่โบราณนับพันปี หลักการง่ายๆ คือเราใช้วิธีผูกเชือกกับมันไว้แล้วโยนลงน้ำ

สมอจะทำหน้าที่ยึดเรือไว้กับพื้นทะเล สมอแบบเก่ามีรูปคล้ายตะขอ ซึ่งมีความยุ่งยากในการเก็บ เมื่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นและต้องการสมอที่หนักขึ้น สมอไม่มีกะ จึงถูกพัฒนาขึ้น สมอชนิดนี้สามารถแขวนที่รูสมอ ได้อย่างมั่นคงในระหว่างเรือออกทะเล  ในภาวะท้องทะเลปกติ “สมอเรือ” อาจไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนในเรือ จนกระทั่งเรือเผชิญกับคลื่นลมพายุที่ซัดใส่ หากไม่มีอะไรยึดเรือไว้ เรือก็อาจถูกซัดไปซัดมาจนไร้ทิศทาง

ออกนอกเส้นทางการเดินเรือจนอาจหลงทางหรืออาจไปกระแทกเข้ากับหินโสโครก จนอับปางลงก็ได้ดังนั้น การมีสมอเรือช่วยยึดเรือไว้จึงจะทำให้ เรือ คนและสิ่งของที่อยู่บนเรือปลอดภัย ในยามที่เผชิญกับลมมรสุมแปรปรวนเช่นนี้เองที่ สมอเรือ มีบทบาทสำคัญขึ้นมาในทันที หรือเปรียบเสมือนกับภายในบ้านที่มีเทียน ตะเกียงหรือไฟฉาย สิ่งที่กล่าวมานั้นแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย

จนกว่าวันนั้นไฟฟ้าดับ ในยามที่ใครในบ้านมองอะไรไม่เห็น ยามนั้น เทียน ตะเกียง และไฟฉาย ต่างมีความสำคัญขึ้นมาในบัดดล
คำศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับสมอ ที่ชาวเรือที่มักใช้กัน 
– ทอดสมอ คือ การทิ้งสมอพร้อมเชือกหรือโซ่ลงไปในทะเล

  • สมอกิน คือ ตัวสมอได้จมลงไปติดกับพื้นท้องทะเลดีแล้ว
  • สมอติด คือ ตัวสมอไปติดหรือขัดกับหินใต้ทะเลจนดึงไม่ขึ้น
  • สมอเกา คือ เวลาที่เราทอดสมอแล้วไม่กินกับพื้น จะไหลครูดกับพื้นไปเรื่อยๆ ทำให้เรือหลุดลอยออกไปจากตำเหน่งที่เราตั้งใจจะอยู่
  • ถอนสมอ คือ การกว้านดึงเก็บสมอขึ้นมา