ที่พักสะอาดในบรรยากาศชาวเรือ สัมผัสวิถีชุมชนแสมสาร อบอุ่นด้วยบริการดุจญาติมิตร

Boutique Hotel @ Samaesarn

ติดต่อสอบถาม 08 3110 8300

Boutique Hotel @ Samaesarn

กิจกรรมดำน้ำ

การดำน้ำแนวอนุรักษ์

          ก่อนอื่นเรามารู้จักกับรูปแบบของการดำน้ำกันก่อนนะคะ การดำน้ำ (DIVING) ในปัจจุบันแบ่งได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
          1. การดำน้ำตื้น ที่เรียกว่า สน็อกเกิ้ล (Snorkeling) หรือ สกิน ไดฟ์ (Skin Dive) เป็นการดำน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 0.9 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของปะการังหลายชนิดที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม มีพืชและสัตว์ ใต้น้ำประเภทอื่น ๆ ประกอบกระแสน้ำไม่รุนแรง และน้ำใสสะอาด เป็นกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ใต้น้ำ ได้ใกล้ชิดและเพลิดเพลินกับธรรมชาติใต้ทะเลที่มีสีสันสวยงาม โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีเพียงแค่หน้ากากดำน้ำ ท่อหายใจ ชูชีพและตีนกบ
          อย่างไรก็ตาม ในรูปแบบการดำน้ำตื้นนั้น ยังมีการดำน้ำอีกลักษณะหนึ่ง เรียกว่า การดำน้ำแบบอิสระ (Free Dive) ที่กำลังได้รับความสนใจ โดยการดำน้ำแบบนี้มีจุดกำเนิดมาจาก  คนที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ทะเล ใช้เพื่อดำน้ำลงไปหาอาหารจนกระทั่งพัฒนามาเป็นกีฬาดำน้ำ การดำน้ำแบบฟรีไดฟ์  คล้ายๆกับ  Snorkeling เราสวม Mask และ Snorkel เหมือนกับการ Snorkeling แต่จะไม่สวมชูชีพ ที่ไม่ใส่ชูชีพเพราะว่าเราต้องการลงไปใต้น้ำที่ระดับความลึกมากกว่า 5 เมตร โดยกลั้นหายใจดำลงไป สัมผัสโลกใต้น้ำ ตลอดจนสามารถถ่ายรูปต่างๆได้ด้วยกล้องใต้น้ำ และมักสวม Fins  (ตีนกบ) เพื่อช่วยให้ว่ายน้ำได้ง่ายขึ้น ในปัจจุบัน Freediving  กำลังเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนสนใจเพราะ เป็นกีฬาที่ท้าทาย ช่วยให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติใต้ทะเลยิ่งขึ้น พัฒนาสมาธิในอีกระดับ และทำให้เที่ยวทะเลได้สนุกมากขึ้น
          2. การดำน้ำลึกแบบ สกูบ้า (Scuba หรือ Self-contained Underwater Breathing Apparatus) เป็นการดำน้ำลึก ไม่เกิน 30 เมตร โดยการสวมหน้ากากดำน้ำ และใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจใต้น้ำ คือ ถังอากาศ และตีนกบ ซึ่งจะทำให้ สามารถเพลิดเพลินและใกล้ชิดกับธรรมชาติใต้ทะเล ได้มากกว่าการดำแบบสน็อกเกิ้ล จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่การดำน้ำประเภทนี้ต้องมีทักษะ และความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง
          3. การดำน้ำลึกแบบ สนูบ้า (Snuba หรือ Self Non-contained Underwater Breathing Apparatus) เป็นการดำน้ำแบบใหม่ ที่ใช้อากาศจากบนผิวน้ำแทนการพกถังอากาศลงไปใต้น้ำ โดยมีอุปกรณ์ดำน้ำพื้นฐานแค่ หน้ากาก ตีนกบ เข็มขัดถ่วงน้ำหนัก และท่ออากาศ ยาวไม่เกิน 6 เมตร ต่อเข้ากับเครื่องส่ง หรือถังอากาศที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำด้วยทุ่นลอย ทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆตามแรงดึงของผู้ดำน้ำ การดำน้ำแบบ Snuba เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มี C-card หรือบัตรประจำตัวนักดำน้ำ แต่อยากจะทดลองใช้เครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ หรืออยากจะชมความงามใต้ท้องทะเล ซึ่งจะคล้ายกับ Sea Walker แต่ สนูบ้า ต้องใส่ตีนกบ แล้วว่ายไปเรื่อยๆ
         

          ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : http://store.supersports.co.th/  และ  http://freedivingnow.com

การดำน้ำตื้น (Snorkeling)

การดำน้ำแบบอิสระ  (Free Dive)

การดำน้ำลึกแบบสกูบ้า (Scuba)

การดำน้ำลึกแบบสนูบ้า (Snuba)

          สำหรับกิจกรรมดำน้ำในแสมสารที่แพร่หลาย ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ คือ การดำน้ำตื้น (Snorkeling)  และการดำน้ำแบบอิสระ (Free Dive) มีผู้ให้บริการหลายราย โดยพื้นที่ในการดำน้ำจะอยู่ในแนวเขตน้ำตื้นบริเวณหมู่เกาะแถบนี้ ได้แก่ เกาะแสมสาร เกาะจวง เกาะจาน เกาะโรงโขน เกาะโรงหนัง เกาะฉางเกลือ และเกาะแรด ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปะการัง ดอกไม้ทะเล ปลาสีสันสวยงามที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นตามแนวปะการัง เป็นที่ตื่นตาตื่นใจ โดยมีความพยายามจากคนในท้องถิ่นที่จะให้เป็นการดำน้ำเชิงอนุรักษ์ เช่น ทำทุ่นผูกเรือบริเวณพื้นที่แนวปะการังป้องกันปะการังเสียหายจากการทิ้งสมอเรือ และขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวไม่ทำลายปะการังในทุกรูปแบบ อาทิ การยืนบนแนวปะการัง หรือการใช้มือหักปะการัง เป็นต้น
          นอกจากนี้ ยังมีการปิดอ่าว งดการดำน้ำ ปีละประมาณ 3 เดือน (ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม) ให้สัตว์ทะเลและระบบนิเวศน์ได้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ เพื่อให้ความสวยงามใต้ท้องทะเล คงอยู่กับชุมชนแสมสารแห่งนี้ตลอดไป
          * ข้อสำคัญประการหนึ่งในการทำกิจกรรมดำน้ำ คือ ความปลอดภัย นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบสภาพเสื้อชูชีพ ศึกษาวิธีใช้งาน และสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลา ตั้งแต่ขึ้นไปบนเรือสปีดโบ้ท หรือขณะดำน้ำ
          ส่วนการดำน้ำลึกแบบสกูบ้า (Scuba) ก็มีเรือบางเจ้าให้บริการนะคะ โดยจุดดำน้ำลึกที่มีชื่อเสียง อยู่ระหว่างเกาะโรงโขน กับเกาะจวง ซึ่งจะมีซากเรือจม ชื่อ “สุทธาทิพย์” อันมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจเกี่ยวกับเรือลำนี้ สามารถอ่านได้ตามลิงค์นี้
          https://www.facebook.com/CoffeeAndHandmade/posts/1024802431001692/
          ขอบคุณเจ้าของข้อมูลด้วยค่ะ